วิธีการวัดขนาดกะทะล้อ และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อต้องการเปลี่ยนกะทะล้อรถบรรทุก
หากคุณกำลังคิดจะเปลี่ยนกะทะล้อให้กับรถบรรทุก เนื่องจากกะทะล้อเดิมชำรุดเสียหาย เสื่อมสภาพ เก่าเกินใช้งาน สำหรับท่านที่ใช้งานรถมานาน หาสมุดคู่มือไม่เจอ หรือทำหาย เกิดปัญหาไม่ทราบขนาดกะทะล้อของรถบรรทุกที่ใช้งานอยู่ วันนี้เรามีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการวัดขนาดกะทะล้อรถของท่านในจุดต่างๆ เพื่อใช้ในการเลือกเปลี่ยนกะทะล้อลูกใหม่
โดยทั่วไปแล้วกะทะล้อรถบรรทุกจะประกอบด้วยส่วนประกอบที่ต้องคำนึงถึงดังนี้
1. ขนาดกะทะล้อ วัดได้จากเส้นผ่าศูนย์กลางจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง
2. จำนวนรูน๊อตของกะทะล้อรถบรรทุก ซึ่งมีตั้งแต่ 4-6 รูน๊อต 8 รูน๊อต และ 10 รูน๊อต
3. ประเภทรูน๊อต กะทะล้อรถบรรทุกทั่วไป จะมีขนาดรูน๊อต 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ สำหรับน๊อตยึด 26ISO , 27SR18 , 27SR19 , 32SR22 เป็นต้น
4. แกนรูด้านใน ดุมล้อรถบรรทุกแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น แต่ละขนาด มีขนาดดุมล้อแตกต่างกันออกไป เราจึงใช้กะทะล้อที่มีขนาดแกนรูด้านในให้ตรงกับดุมล้อรถบรรทุกของเรา
5. แกนรูด้านนอก หรือระยะ P.C.D ซึ่งจะกล่าวในลำดับต่อไป
6. หน้าแปลนกะทะล้อ
7. เตเปอร์ ซึ่งกะทะล้อรถบรรทุกมีทั้งแบบที่ไม่มีเตเปอร์ และแบบมีเตเปอร์ จะกล่าวในลำดับต่อไป
* ขนาดของรูน๊อตและแกนรูด้านใน ดูวิธีการวัดได้จากตัวอย่างการวัดระยะ P.C.D สำหรับล้อ5 รูน๊อต และ 10 รูน๊อต
(P.C.D) ระยะ พี.ซี.ดี
P.C.D. ย่อมาจาก PITCH CIRCLE DIAMETER หมายถึง ระยะห่างของรูน๊อตบนตัว ล้อแม็กซ์ โดยวัดจากกึ่งกลางรูน๊อตทุกตัวลากเส้นเป็นวงกลม แล้ววัดผ่านเส้นผ่าศูนย์กลาง มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ถ้าเป็นจำนวนเลขคู่ 4 หรือ 6 รูน๊อตต่อ 1 ล้อ ก็สามารถวัดจากกึ่งกลางรูน๊อตด้านหนึ่งไปยังด้านตรงข้ามได้เลย
แต่ถ้าเป็นจำนวนเลขคี่ 3 หรือ 5 รูน๊อต ต้องวัดจากแนววงกลมกึ่งกลางรูน๊อตผ่านเส้นผ่าศูนย์กลาง รถยนต์ขนาดเล็กมักมี 4 รูน๊อตต่อ 1 ล้อ และรถยนต์ขนาดใหญ่ขึ้นไปมักมี 5-6 รูน๊อต เพื่อความแน่นหนาในการยึดล้อเข้ากับดุมล้อ หลายท่านสงสัยว่าทำไมรูน๊อตที่ใช้ยึดล้อแม็กเข้ากับดุมล้อ ถึงได้มีค่า PCD แตกต่างกันออกไป ในอดีตผู้ผลิตรถยนต์ หลายค่ายทั้งเอเชีย, ยุโรป และอเมริกา ได้ทำการคิดค้นและออกแบบรถของตัวเองแตกต่างกันออกไป ตามแนวคิดของแต่ละค่าย แต่ละยี่ห้อ ซึ่งสันนิษฐานว่าในอดีตใช้หน่วยวัดเป็นนิ้ว
แต่ต่อมาในบางประเทศที่ใช้มาตรฐานระบบเมตริกเป็นหลัก จึงได้ออกแบบขนาดกะทะล้อที่มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรขึ้นมา จึงมีการเรียกแตกต่างกันไป แต่จริงแล้วค่าของ PCD มีที่มาจากที่เดียวกันนั่นเอง
การวัดระยะ PCD ด้วยตนเอง หากเราต้องการทราบว่าล้อแม็กของเรานั้นมีระยะ PCD เท่าไร?
เราสามารถวัดได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
สำหรับล้อ 4 รูน๊อต และ 8 รูน๊อต
การวัดสามารถวัดโดยวัดที่หน้าแปลนของดุมล้อด้านหลัง โดยทาบไม้บรรทัดจากจุด (A) ไปถึงจุด (B) ดูระยะว่ามีค่าเท่าไหร่? เช่น อ่านค่าได้เท่ากับ 100 มม. นั่นก็คือระยะ PCD ของ ล้อแม็กวงนั้นนั่นเอง
สำหรับล้อ 5 รูน๊อต และ 10 รูน๊อต
การวัดสำหรับล้อแม็กที่มี 5 รู หรือ 10 รูนั้น ต้องมีการคำนวนเล็กน้อย จากรูปเป็นตัวอย่างแสดงตำแหน่งจุดต่างๆที่เราต้องทำการวัดค่า
(A) คือ ระยะของเส้นผ่าศูนย์กลาง ของรูดุมล้อ Center Bore
(B) คือระยะระจากขอบรู ดุมล้อ กับขอบรูยึดน๊อต
(C) คือ ระยะของเส้นผ่าศูนย์กลาง ของรูยึดน๊อต
ได้สูตรการคิดค่าระยะ PCD = (A หาร 2)+B+(C หาร 2)
ตัวอย่าง
A = 110, B = 58.5 และ C = 13
( 55 ) + (58.5) + ( 6.5 )
รวมแล้ว = 120 ดังนั้นตัวเลขที่ได้ก็คือ ค่า PCD นั่นเอง
* หรืออาจใช้สูตร A+(2B)+C แทนก็ได้
สำหรับล้อ 6 รูน๊อต
การวัดสำหรับล้อแม็ก 6 รู จะคล้ายกับ 4 รู โดยวัดในแนวเส้นตรงจากขอบด้านในของรูยึดน๊อต ตรงมายังขอบด้านนอกของรูยึดน๊อตฝังตรงข้าม ผ่านรูดุมล้อ ทำการวัดจากจุด (A) มายังจุด (B) อ่านค่าได้เท่าไร ก็คือ ค่า PCD นั้นเอง
รู PCD
– ล้อใหม่ที่เราจะเลือกใช้ ต้องตรงกับสเปคของรถนั้นๆ ไม่ควรดัดแปลงค่าใดๆ ทั้งสิ้น เพียงเพราะความชอบส่วนตัว หรือความสวยงามของล้อแม็ก
รูกลางของดุมล้อ (Hub Diameter)
– รูกลางของล้อแม็กที่เราจะนำมาใช้ต้องพอดีกันไม่คับหรือหลวมจนเกินไป
การรับน้ำหนัก
– เราต้องเลือกล้อแม็กซึ่งมีความสอดคล้องเหมาะสมกับการใช้งานหรือการบรรทุกน้ำหนัก
การยึดล้อกับดุมล้อ
– ล้อที่เราจะเลือกใช้ รูที่ใช้ยึดเข้ากับตัวหน้าแปลนดุมล้อ ต้องมีสเปคตรงกัน ในแต่ละประเภทที่ได้ถูกออกแบบไว้
ความสัมพันธ์ต่อชิ้นส่วนอื่น
– การเลือกล้อแม็กต้องไม่ไปกระทบหรือมีระยะห่างที่จะไปกระทบกับชิ้นส่วนอื่นๆ เช่น โช๊ค , ขอบซุ้มล้อ , ปีกนก เป็นต้น
น๊อต และ สกรู (Nuts/Bolt)
ในปัจจุบันผู้ใช้รถส่วนใหญ่ มักไม่ทราบว่ารถของเราเองนั้น ควรใส่น๊อตล้อประเภทไหนอยู่? ดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ความถูกต้อง เหมาะสม ของอุปกรณ์ ที่จะทำให้รถที่เราวิ่งอยู่มีความปลอดภัยมากขึ้น
บางครั้งตัวน๊อตเดิมก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้กับล้อใหม่นั้นได้ ทั้งนี้ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ความแข็งแรงในการยึดติดระหว่างล้อกับดุมของรถลดลง ,
ซึ่งก่อให้เกิดอันตราย หรือเกิดความเสียหายต่อรถของเราได้
ประเภทของ น๊อตล้อ Lug Nuts
1) ชนิด เฉียง (Taper)
ลักษณะของน๊อต (Nuts) หรือ Bolts ถูกออกแบบมากให้มีมุมเฉียงที่ 60 องศา ซึ่งหากล้อถูกเจาะรู PCD มาเป็นลักษณะเฉียง เราก็ต้องใช้น็อตล้อให้เป็นแบบเฉียงเช่นเดียวกัน
2) ชนิด กลม (Radius,Ball)
ชนิดนี้ส่วนใหญ่จะเป็น Bolts ซึ่งถูกออกแบบมาให้จุดนั่ง มีลักษณะเป็นทรงกลม ซึ่งหากล้อถูกเจาะรู PCD มาเป็นลักษณะกลม เราก็ต้องใช้น็อตล้อให้เป็นแบบทรงกลมเช่นเดียวกัน
3) ชนิดราบ (Flat)
ชนิดนี้ ทั้งน๊อต (Nuts) หรือ (Bolts) จะถูกออกแบบมาให้จุดนั่ง มีลักษณะแบบราบ และอาจมีวงแหวนประกอบติดอยู่ด้วย เช่นเดียวกันหากล้อถูกเจาะรู PCD มาเป็นลักษณะแบบราบ เราก็ต้องใช้น็อตล้อให้เป็นแบนราบเช่นเดียวกัน